เทศกาลจงเอวี๋ยน (中元節 Zhōng yuán jié) หรือเทศกาลสารทจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ
เป็นประเพณีโบราณสืบทอดกันมายาวนาน
ทางด้านศาสนาพุทธมีตำนานเกี่ยวกับ
พระโมคคัลลานะ ลงไปเยี่ยมมารดาในนรกภูมิ
จนเกิดเหตุให้พระพุทธองค์ลงมาช่วย
พุทธศาสนิกชนก็ถือเอาเดือน 7 เป็นเดือนประตูนรกเปิด
ความเชื่อนี้ก็คล้ายและสอดคล้องกับทางศาสนาเต๋าของจีนเช่นกัน
แม้แต่ทางฝั่งญี่ปุ่นจะเรียกว่า "เทศกาลบง"
มีความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษ ได้ถูกปล่อยกลับบ้านเช่นเดียวกัน
ประเทศจีนมีบันทึกเกี่ยวกับเทศกาลนี้ ตั้งแต่รัชสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เรียกว่า "เทศกาลจงเอวี๋ยน" หรือชาวบ้านเรียก "เทศกาลผี" (กุ่ยเจี๋ย 鬼節 Guǐ jié)
ดังนั้นทั้งคนจีน และญี่ปุ่น
ก็จะถือเอาช่วงวันพระใหญ่กลางเดือน 7
เป็นวันที่ลูกหลานจะนำของเซ่นไหว้ บูชาบรรพบุรุษ
และมีทำบุญให้กับผีวิญญาณไร้ญาติทั้งหลาย
.
ตามความเชื่อทางศาสนาทั้งเต๋าและพุทธ
ช่วงเดือน 7 ทางจันทรคติเชื่อกันว่าเป็นช่วงที่ประตูนรกเปิด
โดยเปิดตลอดทั้งเดือน 7 ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 30 เป็นเวลา 30 วันตลอด 24 ชม.โดยไม่หยุดโควิดแต่อย่างใด
แต่ในช่วงกลางเดือน 7 ตรงกับวันที่ 15
ซึ่งถึงว่าเป็นวันที่พระใหญ่ พระจันทร์เต็มดวง
พลังหยินของวิญญาณจะเข้มข้นและรุนแรงมากกว่าปกติ
ดังนั้นในทางความเชื่อทั้งโหราศาสตร์ และทางศาสนาประเพณีนิยม ก็จะมีการเตือนกันให้ระวังสิ่งที่ไม่ดีที่จะเกิดในวันนี้
รวมไปถึงคำเตือนคำสอนจากโบราณที่ให้ปฏิบัติตาม
เพื่อเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับวิญญาณหรือสิ่งชั่วร้าย
ไม่ให้มาส่งผลต่อวิถีชีวิตหรือทำให้ดวงชะตาตกต่ำ
ในทางพิธีกรรม และประเพณีนิยม
การลอยโคมดอกบัว เหอเติ้งตู่กู่ (河燈度孤 Hé dēng dù gū)
โคมไฟในแม่น้ำ เรียกว่า "โคมดอกบัว" คล้ายกับการลอยกระทงในบ้านเรา
ถ้าความเชื่อการขอพรจากสวรรค์ คือ การลอยโคมไฟขึ้นฟ้า รับพลังหยาง
การลอยโคมไฟดอกบัวในน้ำ คือ การขอพรจากวิญญาณบรรพบุรุษ จากพลังหยิน
ในประเทศจีน และญี่ปุ่น ก็อาศัยช่วงเทศกาลนี้ในการลอยโคมลงแม่น้ำ
โดยอีกความเชื่อคือ จุดไฟนำทางให้กับวิญญาณทั้งหลายได้กลับไปในจุดที่มา
อีกนัยหนึ่ง คือ การสวดมนต์ไหว้พระ แล้วลอยโคม เพราะเชื่อว่าวิญญาณที่ได้รับโทษในนรกมีความทุกข์มาก
การได้แสงสว่างจากโคมดอกบัว และได้ฟังเสียงสวดมนต์จะทำให้วิญญาณมีความสงบร่มเย็นได้
การไหว้บรรพบุรุษ
โดยการจัดของไหว้ โดยจะไหวทั้งหมด 3 ชุด คือ เซ่นไหว้วิญญาณเจ้าที่, เซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ, เซ่นไหว้วิญญาณสัมภเวสี
การเซ่นไหว้เจ้าที่ และเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะทำที่บ้าน
ส่วนเซ่นไหว้วิญญาณสัมภเวสี จะนำไปวางนอกบ้าน หรือบริเวณทางสามแพร่ง หรือตรอกซอย
เป็นการเชื่อว่า ได้ทำทานกับวิญญาณผีไร้ญาติ จะส่งผลสองอย่าง
หนึ่งคือ เพื่อ เบี่ยงเบนความสนใจจากวิญญาณเหล่านั้น ไม่ให้เข้ามาเพ่นพ่านและมาแย่งอาหารของบรรพบุรุษ
สองคือ เพื่อ เป็นบุญทาน สร้างกุศลให้ตนเองและบรรบุรุษ
ในสมัยโบราณของที่นำมาไหว้บรรพบุรุษ มักจะมีผลผลิตการเกษตรที่ทำเอง โดยเฉพาะของตระกูล เพื่อให้บรรพบุรุษได้กินและส่งเสริมการเกษตรทำมาหากินของลูกหลาน
นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายประเพณีพื้นบ้านและโบราณ
เช่น การกินเป็ด, ปั้นแป้งรูปปลา, เผากระดาษ ฯลฯ
ในคัมภีร์อี้จิงโบราณของจีน ได้ให้ความสำคัญของพลังงานลำดับที่ 7 โดยเชื่อว่าพลังงานลำดับที่ 7 หรือเกี่ยวข้องกับเลข 7 เป็นจุดสิ้นสุดของวงรอบพลังงานที่สำคัญ
หนึ่งสัปดาห์ มีเจ็ดวันครบรอบพลังงานของการเปลี่ยนแปลง ผู้ฝึกวิชาทางเต๋า หรือวิชาโหรศาสตร์ทางจิตวิญญาณ ก็จะต้องฝึกวิชาลมปราณต่อเนื่องอย่างน้อย 21(7*3) วัน หรือถ้าขั้นสูงขึ้นไปก็ฝึก 49(7*7) วัน
ดังนั้นเลขลำดับที่ครบ 7 จึงถึงว่ามีพลังของการสิ้นสุดอยู่ในนั้น
หรือแม้แต่ทางด้านพลังงาน จักระใหญ่ในร่างกายเราก็มี 7 จักระ เช่นกัน
ทางโหราศาสตร์ฮวงจุ้ย ก็ให้ความสำคัญของกลุ่มดาวเหนือ ทั้ง 7 ดาว รวมไปถึงในวิชาฉีเหมินตุ้นเจี่ย Qi Men Dun Jia 奇門遁甲 ก็ให้ความสำคัญของพลังงาน 7 ดาวเป็นอย่างมาก
มีพิธีกรรมที่จุดตะเกียง 7 ดาว หรือเดิน 7 ดาว เพื่อเชื่อมพลังและสื่อสาร
กับพลังงานภายในและภายนอกให้สอดคล้อง และดึงดูดความสำเร็จได้
ดังนั้นหากกล่าวถึงเดือน 7 ในมุมนี้ก็ถือว่า
เป็นเดือนที่มีพลังแห่งความสิ้นสุดอยู่ด้วย
และในช่วงเดือน 7 ทางจันทรคติ
มักจะตรงกับช่วงต้นเดือนสิงหาคม ไปต้นเดือนกันยายน ตามปฏิทินสากล
เทียบกับโหราศาสตร์ที่อ้างอิงปฏิทินสุริยคติ แบบ 12 นักษัตร จะตรงกับเดือนวอก พลังงานธาตุทองอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
หากคิดในมุมโหราศาสตร์ทางสุริยคติ
พลังหยางสูงสุดจะเกิดช่วงเดือนมะเมีย ธาตุไฟ
ตรงกับช่วงกลางฤดูร้อน ประมาณ 20-21 มิถุนายน เรียกว่า "สารทเซี่ยจือ" (夏至 xiàzhì)
และสิ้นสุดฤดูร้อน ถือว่าสิ้นสุดพลังหยาง (โลกเริ่มเข้าสู่พลังหยิน)
ตรงกับประมาณวันที่ 22-23 สิงหาคม เรียกว่า "สารทฉูสู่" (處暑 chúshǔ)
ซึ่งมักจะตรงกับช่วงเทศกาลจงเอวี๋ยนของคนจีน และเทศกาลบงของคนญี่ปุ่นพอดี
ดังนั้นเมื่อเทียบทั้งจากความเชื่อทางประเพณีโบราณ รวมกับทางศาสนาพุทธ และเต๋า
อีกทั้งในคัมภีร์อี้จิง และทางโหราศาสตร์ จึงให้ความสำคัญของกลางเดือน 7
ล้วนมีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพลังหยิน หรือพลังวิญญาณทั้งสิ้น
แม้ว่า หยินสูงสุดของปีจะอยู่ที่ช่วง "สารทตงจื้อ" (冬至 dōngzhì) (ประมาณวันที่ 20-21 ธันวาคม ของทุกปี)
แต่ก็เป็นจุดที่พลังงานหยางเริ่มเคลื่อนที่เดินหน้า จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล
หากเทียบกันแล้ว จุดสิ้นสุดพลังหยางต่างหากน่ากลัว เพราะคือช่วงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พลังงานจากหยางไปทางหยินที่รุนแรง จะเคลื่อนเข้าสู่พลังหยินอีกหลายเดือน นั่นแปลว่า "พลังงานหยินเพิ่มเริ่มก่อตัวขึ้นนั่นเอง!!!"
หากมาดูในหนึ่งวัน ช่วงยามวอก
จะตรงกับช่วงเวลา 15:00-17:00 น.
เป็นช่วงพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน
พระจันทร์กำลังจะเคลื่อนมาโดดเด่นบนท้องฟ้า
ดอกไม้ตามธรรมชาติเริ่มเหี่ยวเฉาชัดเจนก็ช่วงนี้
คนป่วยเรื้อรัง หรือนอนติดเตียง มักมีอาการทรุด หรือกำเริบเริ่มต้นก็ช่วงนี้
ผู้คนจะมีอารมณ์เศร้าใจ เหงาใจ หรือหดหู่ ก็จะเริ่มในช่วงนี้
ดังนั้นพลังที่เคลื่อนเข้าสู่หยิน จึงบอกเราให้ระวังให้มากขึ้น ไม่ประมาทมากขึ้นเป็นพิเศษ
ในทางการปฏิบัติตัวของเราควรทำอย่างไร
และควรระวังอะไรบ้างในช่วงนี้
ผมก็รวบรวมและเรียบเรียงให้ท่านผู้อ่านได้ดังนี้
ข้อควรระวัง และปฏิบัติตนในช่วงสารทจีน
ด้านร้ายพึงหลีกเลี่ยง จะส่งผลเสีย
1. หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดินตลอดทั้งเดือน 7 (โดยเฉพาะคืนวันที่ 15 เดือน 7 ที่เชื่อว่าพลังวิญญาณมีกำลังสูงสุด)
2. ช่วงยามชวด 23:00-01:00 น. ของคืนวันสารทจีน อันตรายสุด
3. หากต้องเดินทางกลางคืน ห้ามทัก หรือเห็นอะไรแว่บๆ อย่าสงสัย ใคร่รู้ ทำผ่านๆ อย่าสนใจ
4. ไม่เดินที่เปลี่ยว ไม่ไปยืนจุดสามแพร่ง สามแยก สี่แยก จุดที่เป็นทางแยกต่างๆ เพราะเชื่อว่าเป็นจุดรวมของวิญญาณ
5. หากอยู่บ้าน มีเสียงทัก เสียงเรียก อย่าขานรับทันที เพราะอาจจะเป็นวิญญาณมาขอส่วนบุญก็ได้
6. ไม่เช็คโต๊ะพระ ทำความสะอาดขยับหิ้งพระ กระถางธูป พระพุทธรูป เพราะเชื่อว่าจะทำให้พลังของพระประจำบ้านสั่นคลอน
7. ไม่พูดจาท้าทาย หรือเชิญชวนวิญญาณ
8. ไม่ทำผิดศีล หรือทำสิ่งที่เกี่ยวกับอบายมุข สิ่งมึนเมา หรือสร้างกรรมเพิ่ม ทั้งทางกาย วาจา และใจ เพราะวิญญาณชั่วร้าย จะชอบติดตามคนที่ไม่มีศีล และเข้าถึงได้ง่าย
9. ไม่จัดกิจกรรมมงคล ทุกชนิด รวมไปถึงจัดงานที่มีคนมากๆ เพราะอาจจะมีแขกไม่ได้รับเชิญมาร่วมงาน โดยเฉพาะงานกลางคืน
10. ไม่ยืนใต้เสาไฟฟ้า ตามทางเดิน เพราะเชื่อว่า จะมีวิญญาณเดินผ่านมากมาย
ด้านดี พึงกระทำจะส่งผลดีได้มาก
1. ไหว้บรรพบุรุษ, และทำบุญส่งให้ผู้ตาย จะได้อานิสงส์แรง และได้รับโดยตรง
2. แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ จะยึ่งเจริญรุ่งเรือง
3. สวดมนต์ ภาวนาส่งให้บรรพบุรุษและแผ่เมตตาให้สรรพชีวิต จะส่งให้ผีและวิญญาณเป็นมิตรกับเรา
4. ถือศีล กำหนดจิตให้เบาใส อย่ามีเรื่องร้ายเรื่องไม่ดีเข้าสู่ใจ จะเป็นเกราะที่วิญญาณร้ายทำอะไรไม่ได้
5. วิญญาณร้ายจะชอบคนผิดศีล และติดตาม
6. วิญญาณดี จะติดตามและคอยช่วยเหลือคนดี
7. ถ้าเราแผ่เมตตา และจิตเบาใส มีศีล เราจะได้รับการส่งเสริมจากโลกของวิญญาณได้ด้วย
8. การทำบุญ ทำความดี และถือศีลภาวนาในวันนี้ ส่งใหญ่บรรพบุรุษ และแผ่เมตตาให้ผีไร้ญาติ จะได้ผลดีมาก หากกำลังเดือดร้อนสามารถขอความช่วยเหลือจากบรรพชนจะยิ่งเห็นผลไว (แต่ผลมากน้อยอยู่ที่บุญและกุศลที่สร้างในช่วงนี้)
9., อาศัยช่วงประตูนรกเปิด สร้างบุญใหญ่ ภูติผีวิญญาณต่างสรรเสริญ จะนำพาความสำเร็จมาให้ และลดอุปสรรคในชีวิตได้มาก
มีคำกล่าวว่า
"ขอพรกับองค์เทพ มิสู้ขอพรจากผีบรรพชนผู้ล่วงลับ"
เพราะเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะให้เราสำเร็จได้ก็ด้วยกุศลกรรมและผลบุญที่เราสร้าง ให้เป็นพลังขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ หากไม่มีปัจจัยกำลังบุญ ภาวนา ก็ยากสำเร็จ
ส่วนผีบรรพชนผู้ล่วงลับ ก็เสมือนคนในครอบครัว หากมีความกตัญญู และแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ ขอสิ่งใดมักได้ง่าย ได้ไว
ขอได้หลายๆเรื่องมากมาย โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอยู่ปากท้องของคนในครอบครัว เหมือนพ่อแม่ ที่เอ็นดูและทำได้ทุกอย่างเพื่อลูก
ก็ขอให้ทุกท่านจงมีสติตั้งมั่น
วันสารทจีน เทศกาลจงเอวี๋ยน หรือเทศกาลบง
แม้จะมีคนเตือนให้ระวังเรื่องร้าย และผลกระทบจากพลังวิญญาณในช่วงนรกเปิด ก็อย่ากลัวจนเกินไป
อันไหนพึงเลี่ยงได้พึงเลี่ยง...จะเป็นการดี
คนโบราณจะออกจากบ้าน... จิ้งจกทักยังเชื่อและระวัง .. นี่ซินแสทักทั้งที...ก็ขอให้ระวังอย่างมีสติครับ
ท้ายนี้...แม้ว่าสารทจีนจะมีความน่ากลัว แต่หากเป็นผู้มีบุญ มีปัญญา จะรู้ว่า นี่คือ "โอกาสในการอุทิศกุศลที่ยิ่งใหญ่ ให้กับเหล่าเวยไนยและสรรพชีวิตทั้งหลาย"
ขอให้ทุกท่านจงมีสติ
และมีความเจริญรุ่งเรืองในวันสารทจีน และตลอดไปครับ
*อ้างอิง ตำนานสารทจีน และภาพจากอินเตอร์เนท
コメント